Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน และเทคนิคการรับมือ

Posted By Plook TCAS | 04 ส.ค. 66
350 Views

  Favorite

          การโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือการบูลลี่ที่เกิดกับเด็กเล็กชั้นประถม มีหลายรูปแบบทั้งทางกายและทางวาจา เช่น การล้อเลียน การหยิก การตี การผลัก การต่อยเตะ การตบหัว การหยิบของของเพื่อนไปใช้โดยไม่ขออนุญาตหรือนำไปทิ้ง หรือบางทีเด็กผู้ชายแกล้งเด็กผู้หญิงด้วยการเปิดกระโปรง ผู้กระทำอาจคิดว่าเป็นการล้อเล่นกับเพื่อนเพื่อความสนุกของตนเอง ไม่ได้คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อน แต่ผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายโดนทำร้ายความรู้สึก และการล้อเล่นที่ไม่ได้สนุกด้วยกันทุกฝ่ายจึงเป็นการข้ามเส้นไปสู่การกลั่นแกล้ง

          เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งมักทำตัวเป็นหัวโจกในห้องเรียน มีลูกสมุนคอยให้ความร่วมมือในการกลั่นแกล้ง แล้วขบขันพอใจในผลงานของพวกตัวที่กลั่นแกล้งเพื่อนให้ร้องไห้ หรือต้องหัวหมุนไปกับการค้นหาข้าวของที่หายไปเป็นประจำ ทำให้เพื่อนถูกบ่นว่าจากพ่อแม่ที่ไม่รักษาของ หรือต้องอับอายจากการถูกล้อเลียนหรือการถูกเปิดกระโปรงเล่น หรือต้องเจ็บตัวฟกช้ำจากการถูกทำร้าย หรือการถูกแสดงอำนาจเหนือด้วยการตบหัว และถ้าลูกเราโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนเช่นนี้ เราจะมีเทคนิคการรับมือได้อย่างไร มาดูกันค่ะ

 

1. สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกของลูก

ลูกเราอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน มีอาการปวดหัวปวดท้องทุกเช้าในวันที่ต้องไปโรงเรียน เงียบเหงา เศร้าซึม วิตกกังวล นอนกระสับกระส่าย หวาดผวา เหม่อลอย เก็บตัว ไม่เล่น ไม่ร่าเริง ไม่ช่างพูดช่างคุยเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายที่เราต้องจับสังเกตและหาที่มาให้ได้ ลูกยังเล็กอาจสื่อสารไม่เป็น หรือไม่กล้าเล่าเพราะโดนเพื่อนขู่ หรือกลัวถูกกลั่นแกล้งมากขึ้น คุณจึงต้องใจเย็น คุยกับลูกด้วยบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง ไม่รีบร้อน เพราะจริง ๆ แล้วลูกต้องการความรัก ความอบอุ่น และคำแนะนำเพื่อไม่ให้โดนกลั่นแกล้งอีก เราต้อง “รับฟัง” ลูกด้วยความตั้งใจและความสงบ ค้นหาระหว่างบรรทัดในสิ่งที่ลูกเล่าเพื่อให้ค้นพบสิ่งที่ลูกไม่ได้เล่าซึ่งอาจเป็นต้นตอที่แท้จริง

 

2. พบคุณครู หรือเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้ง หรือผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้ง

การกลั่นแกล้งซึ่งอาจเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นเวลานาน อาจทำให้ลูกกลับกลายเป็นเด็กมีปัญหา เก็บกด ซึมเศร้า และนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจได้อีกหลายอย่างเมื่อเติบโตขึ้น เราจึงต้องหาทางป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เราขอเข้าพบคุณครูประจำชั้นเพื่อบอกให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูก หรืออาจเกิดขึ้นกับเด็กคนอื่น ๆ ในห้อง คุณครูควรเรียกเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้งมาพูดคุย ทำความเข้าใจกัน เพราะเด็กคนนั้นอาจเป็นเด็กที่มีปัญหาเสียเอง ซึ่งเกิดจากลักษณะนิสัยของตนเองหรือจากทางครอบครัว และท้ายสุดเชิญผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้งมาปรึกษาหารือกัน เพราะลักษณะการเลี้ยงดู สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของลักษณะนิสัยในทางลบของเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้ง การร่วมมือกันแก้ปัญหาในทางบวกระหว่างเด็ก ผู้ปกครองของเด็ก และคุณครูหรือโรงเรียน จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

 

3. ปลุกเร้าพลังแห่งความรู้สึกดีกับตนเองให้เกิดขึ้นในตัวลูก

ยิ่งลูกเราเกิดความรู้สึกดีกับตนเองมากเท่าไร โอกาสที่การกลั่นแกล้งจะส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตนเองก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น สอนลูกตั้งแต่เล็กให้รู้จักดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเองออกมา เช่นลูกถนัดวิชาอะไร ชอบเล่นกีฬาอะไร งานอดิเรกอะไรบ้างที่ลูกชอบ ฯลฯ เมื่อได้คำตอบจากลูกแล้ว เราก็สนับสนุนลูกให้เต็มสตีม ทั้งการเรียน การเล่น กิจกรรมในและนอกหลักสูตร เพื่อปรับ Mindset ของลูกให้เข้มแข็งและสร้างสถานการณ์ทางสังคมที่ดีให้ลูก ลูกจะมีโอกาสพบเจอเพื่อนที่ดี ๆ มีมิตรภาพต่อกันมากขึ้น การสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นทำให้ลูกเกิดความรู้สึกดีกับตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เราต้องสอนลูกเราให้เคารพและรู้จักการพูดจาดีมีสัมมาคารวะต่อผู้อื่น ลูกก็จะได้รับการปฏิบัติตอบกลับเช่นเดียวกัน หากใครไม่ดีกับลูก ก็สอนให้ลูกถอยห่าง

 

4. สร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกเพื่อสนุกกับการไปโรงเรียน

สร้างความมั่นใจให้ลูกด้วยการให้ลูกเรียนรู้ว่า การกลั่นแกล้งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกแห่งทุกสังคม มิใช่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น และมิใช่ความผิดของลูก แต่ถึงอย่างไรโรงเรียนก็คือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูก และลูกต้องรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการไปโรงเรียน เราจะอยู่เคียงข้างดูแลลูกให้อยู่รอดปลอดภัยในทุกทาง หากลูกมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับเพื่อน ๆ หรือสิ่งใด ๆ ที่โรงเรียนขอให้เล่าให้เราฟัง บอกเราว่าลูกสนิทกับเพื่อนคนไหน ไปสนามเด็กเล่นหรือสนามกีฬาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือไปโรงอาหารกับเพื่อนคนไหน และเพื่อนคนไหนที่ดีและไม่ดีกับลูก เพื่อเราจะได้หาทางปรับเปลี่ยนและแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ขอให้ลูกเชื่อใจว่าเรารักและห่วงใยลูก และเป็นเพื่อนลูกได้ และต้องทำให้ลูกเห็นจริงว่าเรามั่นคง เข้มแข็ง และสามารถช่วยลูกได้ในทุกสถานการณ์ ความมั่นใจในตัวเราสามารถช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกมีพลัง มีขวัญและกำลังใจมากขึ้นในสถานการณ์ที่ท้าทายความรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน

 

พ่อแม่ผู้ปกครองคือเกราะกำบังภัยให้ลูก สร้างความรู้สึกและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูก ปกป้องลูกให้พ้นจากการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาและชี้แนะแนวทางป้องกันภัยให้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและสนุกของลูกเราและเด็กนักเรียนตัวน้อยทุกคน

 

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง How To Deal With Bullying in Schools https://www.parents.com/kids/problems/bullying/bully-proof-your-child-how-to-deal-with-bullies/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow